ไทรอยด์เป็นพิษ (ไฮเปอร์ไทรอยด์) การรักษาไทรอยด์เป็นพิษ

ไทรอยด์เป็นพิษ หรือ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (ภาษาอังกฤษ : Hyperthyroidism หรือ Overactive Thyroid) คือ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์* มีการหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากเกินไป กระตุ้นให้อวัยวะทั่วร่างกายมีการเผาผลาญสูงกว่าปกติ เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย ๆ ต่างขึ้นตามมา เช่น เหนื่อยง่าย ใจสั่น ขี้ร้อนง่าย เหงื่อออกมาก หงุดหงิด นอนไม่หลับ น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็วแบบผิดปกติ เป็นต้น

ไทรอยด์เป็นพิษ (ไฮเปอร์ไทรอยด์)

โดยต่อมไทรอยด์จะทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนสำคัญ 3 ชนิด คือ ไทรอกซีน หรือ ที4 (Thyroxine – T4), ไตรไอโอโดไทโรนีน หรือ ที3 (Triiodothyronine – T3) และแคลซิโทนิน (Calcitonin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญน้อยกว่าฮอร์โมนไทรอกซีนและฮอร์โมนไตรไอโอโดไทโรนีนอย่างมาก ดังนั้น โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงฮอร์โมนไทรอยด์จึงมักหมายถึงเฉพาะฮอร์โมน 2 ชนิดนี้ เพราะฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดนี้จะมีหน้าที่สำคัญมาก คือ ควบคุมดูแลการเผาผลาญหรือใช้พลังงานทั้งหมดจากอาหารและจากออกซิเจน หรือที่เรียกว่าเมตาบอลิซึม (Metabolism) ของเซลล์ต่าง ๆ เพื่อการเจริญเติบโต เพื่อการทำงาน เพื่อซ่อมแซมส่วนที่บาดเจ็บสึกหรอ และช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย (ส่วนฮอร์โมนแคลซิโทนินนั้นจะมีหน้าที่แค่ช่วยควบคุมระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในระบบไหลเวียนของเลือดให้สมดุล) ซึ่งถ้าหากเกิดความผิดปกติจนทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป T4 และ T3 ก็จะถูกผลิตออกมามากจนกลายเป็นพิษ

ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมที่ทำงานโดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) และของสมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งทั้งต่อมใต้สมองและสมองไฮโปทาลามัสยังควบคุมการทำงานของอวัยวะอื่น ๆ ด้วย เช่น ต่อมหมวกไต อัณฑะ และรังไข่ และยังมีความสัมพันธ์กับอารมณ์และจิตใจ ดังนั้น การทำงานของต่อมไทรอยด์ รวมทั้งภาวะผิดปกติต่าง ๆ ของต่อมไทรอยด์จึงมีความสัมพันธ์กับการทำงานและโรคต่าง ๆ ของอวัยวะเหล่านั้น รวมถึงสัมพันธ์กับอารมณ์และจิตใจด้วย

การรักษาไทรอยด์เป็นพิษ

โดยทั่วไปแพทย์มักจะให้การรักษาด้วยยาต้านไทรอยด์เป็นหลัก นอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ (Thyroidectomy) หรือให้กินน้ำแร่รังสีไอโอดีน/สารไอโอดีนกัมมันตรังสี (Radioactive iodine) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่ไม่ตอบสนองต่อยาต้านไทรอยด์ มีอาการกำเริบซ้ำบ่อย มีความไม่สะดวกในการกินยาอย่างต่อเนื่องหรือมีอาการแพ้ยา รวมทั้งในรายที่มีอาการรุนแรงมาก ทั้งนี้แพทย์จะเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายโดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ของผู้ป่วย เช่น อายุ สุขภาพของผู้ป่วย ขนาดของต่อมไทรอยด์ที่โตขึ้น และความรุนแรงของอาการ ส่วนในรายที่ทำได้หลายวิธี ก็จะเป็นการตัดสินใจร่วมกันของแพทย์และผู้ป่วยครับ

  1. ยาต้านไทรอยด์ (Antithyroid drug) ผู้ป่วยที่มีอายุน้อย อาการยังไม่รุนแรงมาก และต่อมไทรอยด์ไม่โตมาก แพทย์มักจะแนะนำให้รักษาด้วยการกินยาต้านไทรอยด์ก่อน โดบยานี้จะไปกดการทำงานของต่อมไทรอยด์ จึงช่วยลดการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ไม่ให้สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากจนเกินไปภายใน 2-8 สัปดาห์ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดการใช้ยาให้ทุก ๆ 1-2 เดือน โดยพิจารณาจากผลการตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์เป็นหลัก
  2. ยาบรรเทาอาการอื่น ๆ นอกจากยาต้านไทรอยด์แล้วแพทย์อาจให้ยาไดอะซีแพม (Diazepam) เพื่อบรรเทาอาการหงุดหงิด นอนไม่หลับ และยาต้านเบต้าหรือเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta-blocker) เช่น โพรพราโนลอล (Propranolol) วันละ 40-120 มิลลิกรัม แบ่งให้วันละ 2-4 ครั้ง เพื่อช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจให้ช้าลง บรรเทาอาการใจสั่น มือสั่น และอาการวิตกกังวล (มักใช้กับผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง แต่ยาดังกล่าวก็มีผลข้างเคียง เช่น ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ ปวดหัว ท้องไส้ปั่นป่วน ท้องเสีย หรือท้องผูก) แต่เมื่อระดับของฮอร์โมนไทรอยด์อยู่ระดับปกติแล้วก็ไม่จำเป็นกินยานี้เพื่อลดอาการใจสั่นอีก กินแต่ยาต้านไทรอยด์เพียงอย่างเดียวก็พอ
  3. การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ (Thyroidectomy) มักใช้รักษาในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี หรือมีต่อมไทรอยด์โตมาก หรือต่อมไทรอยด์ไปกดเบียดอวัยวะข้างเคียง (ทำให้มีอาการหายใจลำบากหรือกลืนลำบาก เพราะต่อมไทรอยด์ที่โตขึ้นไปกดเบียดทับหลอดลมและ/หรือหลอดอาหาร ซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ติดกับต่อมไทรอยด์) ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกบางส่วนเพื่อให้ต่อมไทรอยด์มีขนาดเล็กลงหรืออยู่ในระดับใกล้เคียงกับคนปกติ จะได้สร้างฮอร์โมนได้น้อยลงและช่วยให้อาการหายใจลำบากหรือกลืนลำบากดีขึ้น ส่วนในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือมีโรคร่วมอื่น ๆ (เช่น โรคหัวใจ) หรือไม่สามารถใช้ยาต้านไทรอยด์หรือกินน้ำแร่รังสีไอโอดีนในการรักษาได้ หรือเป็นเนื้องอกไทรอยด์หรือต่อมไทรอยด์เป็นก้อนเดี่ยว ซึ่งแพทย์สงสัยว่าอาจเป็นก้อนมะเร็ง แพทย์ก็จะแนะนำให้ทำการผ่าตัดเช่นกัน
  4. การกินน้ำแร่รังสีไอโอดีน/สารไอโอดีนกัมมันตรังสี (Radioactive iodine) เป็นการกินน้ำที่ประกอบด้วยสารไอโอดีนกัมมันตรังสีที่ได้รับการคำนวณขนาดไว้ให้พอดีกับแต่ละบุคคล โดยน้ำแร่รังสีไอโอดีนนี้จะเป็นสารไอโอดีนประเภทหนึ่ง (Iodine-131) ที่ให้รังสีแกมมา (Gamma ray) และรังสีบีตา (Beta ray) ซึ่งเป็นรังสีที่ใช้ในการตรวจและรักษาโรค และสามารถปล่อยรังสีนั้น ๆ ออกมาทำลายเนื้อเยื่อของต่อมไทรอยด์ได้ โดยการรักษาด้วยวิธีนี้จะมีจุดประสงค์เพื่อทำลายเนื้อเยื่อไทรอยด์บางส่วน เพื่อให้ลดปริมาณการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ลง เมื่อผู้ป่วยกินน้ำแร่รังสีไอโอดีนเข้าไป สารชนิดนี้จะถูกดูดซึมโดยต่อมไทรอยด์ และทำลายเนื้อเยื่อของต่อมไทรอยด์ ทำให้ต่อมไทรอยด์ค่อย ๆ หดตัวลง ต่อมไทรอยด์จึงมีขนาดเล็กลงและสร้างฮอร์โมนได้น้อยลง อาการจากภาวะไทรอยด์เป็นพิษของผู้ป่วยจึงค่อย ๆ ดีขึ้น ซึ่งมักจะใช้ระยะเวลาในการรักษาประมาณ 3-6 เดือน (อาการไทรอยด์เป็นพิษจะยังไม่หายไปในทันที และก่อนจะให้กินน้ำแร่รังสีไอโอดีนดังกล่าว ผู้ป่วยอาจต้องกินยาต้านไทรอยด์จนระดับฮอร์โมนไทรอยด์กลับสู่ปกติเสียก่อน)
  5. การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ในระหว่างการรักษาผู้ป่วยจะต้องเน้นการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและโซเดียมให้มากขึ้น (แต่ต้องควบคุมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม) ดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อช่วยลดภาวะขาดน้ำ นอกจากนี้ไทรอยด์เป็นพิษยังทำให้กระดูกบางลง ผู้ป่วยจึงควรรับประทานอาหารเสริมที่มีแคลเซียมและวิตามินดีควบคู่กันไปด้วยเพื่อบำรุงกระดูกให้แข็งแรงขึ้นทั้งในระหว่างการรักษาและหลังจากหายแล้ว ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้แนะนำถึงปริมาณของอาหารเสริมและอาจช่วยวางแผนในการรับประทานอาหารรวมทั้งการออกกำลังให้แก่ผู้ป่วย

หมายเหตุ : ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) เป็นต่อมไร้ท่อที่อยู่ด้านหน้าของลำคอ โดยอยู่ด้านข้างและใต้ต่อกระดูกอ่อนไทรอยด์ (Thyroid cartilage) มีรูปร่างคล้ายผีเสื้อ ประกอบไปด้วย 2 กลีบใหญ่ คือ กลีบด้านซ้ายและด้านขวาที่แผ่ออกทางด้านข้างและคลุมพื้นที่บริเวณด้านหน้าและด้านข้างของหลอดลม

You Missed